“นาทม” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2310 โดยกลุ่มครอบครัวที่อพยพมาจากแขวงคำม่วน ประเทศลาว ด้วยสภาพของที่ราบป่าเบญจพรรณ มีผืนดินเหมาะแก่การทำนา ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า ดินเป็นทม “นาทม” จึงสื่อความหมายถึง นาผืนใหญ่อันมีความอุดมสมบูรณ์
สิมโบราณ (ซ้าย) ที่วัดศรีบุญเรือง
ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของนาทม ยังแทบไม่ปรากฏในกระแสหลัก แต่หากใครมีโอกาสได้ลองมาเยือน จะพบว่าอำเภอแห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบ “อันซีน” น่าประทับใจอยู่ไม่น้อย
ขอชวนมาทำความรู้จักเรื่องราวของ “ 7 เสน่ห์แห่งนาทม” ที่อยากชวนให้ใครๆได้หาโอกาสมาสัมผัสด้วยตนเอง
วัดศรีบุญเรือง (วัดใต้) ศูนย์รวมความศรัทธา นาทม
วัดเก่าแก่ประจำชุมชนจากหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร กล่าวว่า ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2350 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2500 สิ่งสำคัญไม่ควรพลาดชม คือ “สิม” หรือพระอุโบสถเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440
สิมแห่งนี้สะดุดตาด้วยศิลปะแบบล้านช้าง มีเอกลักษณ์ทางศิลปะตามแบบช่างพื้นบ้านภาคอีสาน หน้าบันด้านหน้ามีภาพปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษาลงสีสันสวยงาม ส่วนหน้าบันด้านหลังเป็นภาพนูนต่ำรูปบุคคลพนมมือรายล้อมด้วยพฤกษาเช่นกัน ถือเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าของนาทม
พระพุทธมิ่งเมืองนาทม (ภาพถ่ายเดือน ธันวาคม 2565) พระพุทธรูปจะทาสีทองแล้วเสร็จภายในปี 2566
ภายในวัดมีพระอุโบสถหลังใหม่อยู่เคียงข้างกับสิมโบราณ นอกจากนี้ ยังมี “พระพุทธมิ่งเมืองนาทม” องค์พระใหญ่ ขนาดความสูง 19 เมตร ซึ่งเพิ่งสร้างสำเร็จเมื่อต้นปี 2565 เพื่อเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนในท้องถิ่น และกำลังจะมีการทาสีองค์พระให้แล้วเสร็จเพื่อทำพิธีสมโภชใหญ่ภายในปี พ.ศ. 2566
พระอาจารย์ธงชัย โกวิโท บนพลาญหินบริเวณวัดป่าศิลาราม
วัดป่าศิลาราม กับพลาญหินตระการตา
ความเงียบสงบห่างไกลจากความวุ่นวายของวัดป่าศิลาราม มีพระอาจารย์ธงชัย โกวิโท พระอธิการฯ เป็นผู้ดูแลและใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรม วัดแห่งนี้เหมาะแก่การเดินทางมาสักการะทำบุญตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ภายในวัดยังมีองค์พระใหญ่ สูง 15 เมตร ปางประทานพรต้นแบบคล้ายกับวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี
เดินเท้าจากวัดไปไม่ไกล มีความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือ พลาญหิน หรือลานหิน ขนาดกว้างใหญ่ เรียงขนานกันอย่างเป็นระเบียบ โดยมีร่องน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ลักษณะของลานหินบริเวณนี้มีความคล้ายคลึงกับหินสามวาฬ จ.บึงกาฬ แต่เป็นลานกว้างระดับเสมอกัน เรียงขนานกันเป็นทางยาว และสามารถเดินชมบนลานหินได้อย่างสะดวกสบาย
พลาญหินแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา ซึ่งส่วนใหญ่พบเห็นได้ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีความพิเศษ คือ ริ้วรอยของธรรมชาติที่รังสรรค์ไว้เป็นลวดลายคล้ายตาลปัตร (จึงเป็นที่มาที่เรียกกันว่า ลานตาลปัตร) รวมถึงมีจุดต่างๆคล้ายกับรอยพระพุทธบาท หรือดอกบัว ให้จินตนาการเชื่อมโยงเกี่ยวกับพุทธประวัติ
อ่างมโนราห์ โบกงามขนาดย่อม
พื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.นาทม จ.นครพนม กับ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นที่ตั้งของ “อ่างมโนราห์” สถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางธรณีวิทยาอีกแห่ง งดงามไปด้วยแก่งหิน ธารน้ำ และลานหินที่มีลักษณะเป็น “โบก” (ภาษาอีสาน หมายถึง บ่อ หรือหลุม) รูปร่างแปลกตากระจัดกระจายไปทั่ว
โบก (หลุม) ขนาดใหญ่ที่อ่างมโนราห์
หากใครมามาเยือนอาจนึกถึงสามพันโบก จ.อุบลราชธานี แต่สำหรับอ่างมโนราห์ มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก สามารถเดินเล่น หามุมถ่ายภาพสวยๆได้สะดวกสบายใช้เวลาไม่นาน แต่รับรองว่าได้ภาพโดนใจไม่น้อยเช่นกัน
รูปร่างแปลกตาของหินที่อ่างมโนราห์
ในฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง ลานหินปรากฏให้เห็นความงามที่ชัดเจนของรูปร่างโบก หรือหลุมต่างๆ มีทั้งขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณฝ่ามือ ไปจนถึงขนาดใหญ่ลงไปยืนได้ ส่วนในฤดูฝน อ่างมโนราห์ ชุ่มฉ่ำไปด้วยสายน้ำ กลายเป็นธารน้ำตกเล็กๆ ให้คนในชุมชนได้ใช้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
อ่างมโนราห์
วังนาคินทร์ บนแนวเขาภูลังกา
วัดป่ากินรี – วังนาคินทร์ เที่ยวเชื่อมโยงความศรัทธา
พื้นที่รอยต่อระหว่างสองจังหวัดอีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ สำหรับนักท่องเที่ยวสายศรัทธา-ความเชื่อ หรือจะเป็นสายธรณีวิทยา-ธรรมชาติก็ตาม นั่นคือ “วังนาคินทร์” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ แต่เส้นทางเข้า และวัดป่าที่สำคัญใกล้ๆกัน อยู่ในพื้นที่ อ.นาทม จ.นครพนม
ตามความเชื่อชาวท้องถิ่นว่าที่ประทับของ “เจ้าปู่องค์ดำแสนศิริจันทรานาคราช”
หินรูปร่างน่าตื่นตาตื่นใจบริเวณเส้นทางเดินป่า วังนาคินทร์
ส่วนความอลังการในด้านธรณีวิทยานั้น ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของไทยที่มีปรากฏการณ์ “ซันแครก” (Suncrack) หรือหมอนหินซ้อน อันเกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน กลายเป็นความงามเข้มขลังน่าชม
เส้นทางท่องเที่ยวจากวังนาคินทร์ ยังนำไปสู่น้ำตกกินรี กับหินโลมา โดยระหว่างทางมีจุดชมวิว มองลงไปเห็นทัศนียภาพเขียวขจีของผืนป่า และพระอุโบสถกลางน้ำของ “วัดป่ากินรี” ในพื้นที่ อ.นาทม ซึ่งควรค่าแก่การแวะไปเที่ยวชมและสักการะพระประธานในอุโบสถกลางน้ำที่ตระหง่านเด่นสะท้อนลงไปบนผืนน้ำโดยมีแนวเขาเขียวขจีของภูลังกาเป็นฉากหลัง
ภายในพระอุโบสถวัดป่ากินรี
นั่งรถอีแต๊ก ชมวิถีท้องถิ่น
กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชาวนาทมประยุกต์ให้เข้ากับบรรยากาศวิถีถิ่นอีสาน คือ การนำผู้มาเยือนนั่ง “รถอีแต๊ก” ตระเวนชมบรรยากาศน่ารื่นรมย์ไปในหมู่บ้าน เริ่มจากวัดศรีบุญเรือง ลัดเลาะไปตามถนนเส้นเล็กๆที่สองข้างทางรายล้อมบ้านเรือนกับวิถีชีวิตเรียบง่ายที่มีรอยยิ้มต้อนรับ
บ้านกลุ่มทอผ้าสร้างสรรค์นาทม
เส้นทางรถอีแต๊กสัมผัสวิถีถิ่นนาทม มีจุดแวะพัก คือ “บ้านกลุ่มทอผ้าสร้างสรรค์นาทม” แหล่งเรียนรู้ให้ทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ทอผ้าซิ่นกับผ้าขาวม้าใช้เอง ซึ่งกรมพัฒนาชุมชนได้ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กลุ่มใช้สีย้อมผ้าจากพืชพรรณธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมี “เรือนไทยอีสาน” เรือนไม้โบราณอายุหลายสิบปีในหมู่บ้านที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของเรือนไม้ทางภาคอีสานในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
ช้อปปิงเซรามิก ชามตราไก่
ใครจะคาดคิดว่าอำเภอเล็กๆอันห่างไกลอย่างนาทม เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตถ้วยชามเซรามิกขนาดใหญ่ และยังเป็นโรงงานเซรามิกหนึ่งเดียวในภาคอีสาน ที่นั่น คือ “โรงงาน ทีพีเอส แมททีเรียล” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์เซรามิก หรือถ้วยชามลวดลายไก่ ที่หลายคนคุ้นเคย ภายในพื้นที่ราว 35 ไร่ เป็นโรงงานครบวงจรในการทำเซรามิก โดยใช้ดินส่วนหนึ่งจากนาทม ดินขาวจากลำปางและสระบุรี เปิดกิจการมานับ 10 ปี ในการผลิตถ้วยโถโอชามที่ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แวะมาช้อปปิงชามตราไก่ได้หน้าโรงงาน
แม้โรงงานแห่งนี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่บริเวณหน้าโรงงานก็เป็นแหล่งช้อปปิงของเหล่าเซรามิกเลิฟเวอร์อย่างแท้จริง โดยมีสินค้าหลากหลายรูปแบบจำหน่ายทั้งปลีกและส่งในราคาโรงงาน ดึงดูดให้นักช้อปได้แวะมาเลือกซื้อกันได้อย่างจุใจ ตั้งแต่ 8.00 -17.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
ชุดการแต่งกายดั้งเดิมของชาวนาทม ชนเผ่าญ้อ เสื้อแขนกระบอกสีกรมท่า ผ้าถุงมัดหมี่
นาทม กลมเกลียว
ความห่างไกลจากเมืองใหญ่ของอำเภอเล็กๆแห่งนี้ ก่อเกิดเป็นความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมของคนในชุมชนตามแบบวิถีเมืองเล็กในชนบท จนกลายเป็นวลี “นาทม กลมเกลียว” ที่ชาวนาทมใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการทำงาน และการใช้ชีวิต เสมือนย้ำให้เห็นภาพความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่พร้อมใจกันสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวจะสัมผัสได้ถึงความน่ารักของชาวนาทม ผ่านการต้อนรับ รอยยิ้ม บทสนทนาที่จริงใจ และกระตือรือล้นเต็มใจที่ชาวบ้านช่วยกันถ่ายทอดเป็นจุดขายให้แก่ผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงวิถีชนบทอันงดงามเรียบง่าย และความกลมเกลียวในอำเภอที่น่าหลงรักแห่งนี้